วัดปงยางคกเป็นวัดที่มีความเป็นมาเก่าแก่มากแห่งหนึ่งของจังหวัดลำปาง ภายในวัดเต็มไปด้วยคุณค่าแห่งศิลปกรรมที่ควรค่าแก่การเก็บรักษา และเปิดโอกาสให้คนรุ่นหลังได้เข้าไปเรียนรู้ น่าชม วิหารจามเทวี ที่มีมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี เมื่อ พ.ศ. 1253 เป็นวิหารไม้ที่สวยงามเป็นแบบฉบับของลักษณะสถาปัตยกรรมสกุลช่างลำปาง มีลักษณะเป็นหลังคาสามชั้น เดิมเป็นแป้นไม้เกล็ดแต่ได้ผุกร่อนไปจึงได้เปลี่ยนมามุงด้วยดินขอเกล็ดไม่มีฝ้าเพดาน โครงสร้างของวิหารทั้งขื่อคาเสาเขียนลายทองซึ่งต่างจากวิหารทั่ว ๆ ไปซึ่งเป็นภาพเขียนลายน้ำแต้ม ภายในมีซุ้มมณฑปพระประธานซึ่งทางภาคเหนือเรียกว่า “โขงพระประธาน” ประกอบด้วยซุ้มขนาดเล็ก ฐานซุ้มมณฑปเป็นฐานก่ออิฐทำลายปูนปั้นย่อมุมไม้สิบสองอย่างประณีตสวยงาม และในซุ้มประดิษฐานพระประธานปางสมาธิเพชร ผนังด้านซ้ายมือของมณฑปก่อสร้างเป็นซุ้มลายปูนปั้น ภายในซุ้มยังประดิษฐานรูปปั้นพระพุทธรูปปางประทานพรอยู่ภายใน ส่วนธรรมาสก์ฐานก่อสร้างเป็นด้วยอิฐฉาบปูน ทำลวดลายปูนปั้นติดกระเบื้องเคลือบดินเผาสีต่าง ๆ ตกแต่งแบบชาวล้านนา ซึ่งปัจจุบันหลุดร่อนไปเกือบหมดแล้วตัวธรรมาสก์ทำด้วยไม้ลงรักปิดทองลวดลายเป็นรูปดอกไม้ ภาพเขียนบนผนังด้านหลังพระประธานซึ่งเป็นภาพต้นศรีมหาโพธิ์สามต้น มีเทวดาถือฉัตรและช่อดอกไม้ประดับทั้งสองข้างของพระประธานและลายเขียนตามผนังเสาขื่อคานของวิหารทั้งหมด ภาพลายดอกไม้หรือลายหม้อดอกหรือภาพแจกันดอกไม้ตามคติพุทธเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าปูรณฆฎะหรือปูรณกลศ หมายถึงหม้อน้ำที่มีน้ำเต็มเปี่ยม ส่วนไม้เลื้อยนั้นหมายถึงความงอกงามของชีวิตและการสร้างสรรค์ ซึ่งแต่ละภาพเขียนลวดลายดอกใบกิ่งก้านเป็นลวดลายต่างกันออกไป และถือว่าเก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ ฝาผนังวิหารด้านขวามือจะมีรอยดาบที่เกิดจากรอยดาบของการรบระหว่างหนานทิพย์ช้างกับท้าวมหายศ