คุณสามารถอ่านได้อีก
5
บทความ
Summary
- โครงการและนโยบายจำนวนมาก ลงไปทำอะไรก็ไม่รู้กับท้องถิ่น โดยที่คนในชุมชนเองก็ไม่ได้อยากได้
- นักการเมืองท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง มักจะถูกลดทอนความสำคัญด้วยข้อหาโกงกิน การหาผลประโยชน์เข้าสู่พวกพ้อง
- โครงการ “Vote For Me เลือกฉันเป็นนายกอบจ.” เป็นโจทย์งานให้นักศึกษาปริญญาตรีในจังหวัดลำปาง ได้ลองเล่นบทบาทสมมติว่าถ้าเป็นนักการเมืองท้องถิ่น เขาจะนำเสนออะไรให้ท้องถิ่นบ้านเกิดเขาบ้าง
เวลาเราพูดกับตัวเองว่า อยากจะพัฒนาบ้านเกิด พัฒนาท้องถิ่น ความรู้ความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ มักจะถูกล็อกด้วยภาพจำอย่างการทำค่ายอาสา การไปเป็นครูดอยที่ห่างไกล การได้ทำหน้าที่เป็นอาสาสมัครของมูลนิธิต่างๆ หรือกระทั่งการบริจาคเงินและสิ่งของให้กับชนบท
ชนบทที่เรารับรู้ จึงเป็นพื้นที่นามธรรมพร้อมกับภาพลักษณ์ในใจเรา ที่มองชุมชนในลักษณะที่หยุดนิ่ง บนความคิดแบบนี้ แม้จะช่วยบรรเทาความยากลำบาก แต่ในอีกด้าน ก็ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำซ้อนกันไปอีก เพราะน้ำใจและความช่วยเหลือมักจะหลั่งไหลไปสู่พื้นที่ที่คนรู้จักและเข้าถึงได้ ทั้งที่กลไกหนึ่งที่มีความยั่งยืนกว่าก็คือ การมองพื้นที่ในฐานะอาณาบริเวณขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือ อปท. ไม่ว่าจะในระดับเทศบาล หรือระดับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
ไม่ต้องไปที่ไหนไกล แม้กระทั่งโครงการของกระทรวงอุดมศึกษาฯ ที่นำร่องในชื่อ “มหาวิทยาลัยสู่ตำบล” หรือ University to Tambon (U2T) ก็เห็นได้ชัดว่า เป็นนโยบายที่ไม่เข้าใจ หรือพยายามเลี่ยงที่จะยอมรับว่า การบริหารจัดการและการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีและน่าอยู่ของท้องถิ่นระดับตำบลนั้น แยกไม่ขาดไปจากเทศบาลหรืออบต. เราจึงพบโครงการจำนวนมากที่ลงไปทำอะไรก็ไม่รู้กับตำบล โดยที่ตัวคนในชุมชนเองก็ไม่ได้อยากได้ กลายเป็นว่า ศูนย์กลางอยู่ที่ส่วนกลางอย่างกระทรวงและคนปฏิบัติงานอย่างมหาวิทยาลัยไปเสีย
เอาเข้าจริง การทำงานเชิงพื้นที่เป็นสิ่งที่นักวิชาการเคยให้ความสนใจเป็นอย่างมาก เพียงแต่พื้นที่ของพวกเขาหลุดลอยจากกลไกประชาธิปไตยท้องถิ่น เห็นได้ชัดจากงานวิจัยเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area-Based Collaborative Research) หรือที่เรียกว่า โครงการวิจัย ABC ของกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตั้งแต่ปี 2550 (หลังรัฐประหาร 2549) ก็มุ่งเน้นที่จะสร้าง “หมู่บ้าน-ชุมชนในอุดมคติ” การร่วมมือกับรัฐก็ผ่านกระทรวงมหาดไทย อันเป็นงานส่วนกลาง-ส่วนภูมิภาค ที่เป็นนโยบายแบบบนลงล่างเสียมากกว่า
บทความนี้อยากชวนสนทนาถึงการสร้างสรรค์ท้องถิ่นในฐานะหน่วยการเมืองที่สัมพันธ์กับประชาธิปไตยใกล้ตัวของพวกเขา นั่นคือ นักการเมืองท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง พวกเขามักจะถูกลดทอนความสำคัญด้วยข้อหาโกงกิน การหาผลประโยชน์เข้าสู่พวกพ้อง ขณะที่ผลงานอันน่าจดจำทั้งหลายของพวกเขากลับถูกหลงลืมไป กลไกเช่นนี้มีสภาท้องถิ่นที่จะทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจในเชิงโครงสร้าง ต่างไปจากผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ที่ไม่เพียงได้รับการแต่งตั้งมาจากไหนไม่รู้ แล้วยังไม่สามารถตรวจสอบการทำงานได้อีก
คนที่มีประสบการณ์กับเกมอย่าง Sim City และ City Skylines คงนึกออกว่า ในสถานการณ์นั้น เราคือ คนที่มีอำนาจมากคล้ายพระเจ้าที่มองมาจากเบื้องบน จัดการทรัพยากรต่างๆ หารายได้ และจัดการกับรายจ่ายเพื่อบริหารและพัฒนาพื้นที่เมืองขึ้นมา อันที่จริง เกมดังกล่าวจำลองสถานการณ์ของนายกเทศมนตรีเมือง ผิดแต่ว่า เกมนี้เราไม่ต้องไปหาเสียง และไม่มีสภาเมืองไว้โต้แย้งและตรวจสอบเรา
เกมทั้งสอง ถือเป็นการเล่นบทบาทสมมติได้ดี นอกจากนี้ บทบาทสมมติอาจประยุกต์ได้หลายแบบ เช่นที่ฟินแลนด์ มีโครงการทำนองว่า Me and My City โดยแนวคิดการเรียนรู้ที่ชื่อว่า Yrityskylä (หรือแปลว่า “หมู่บ้านธุรกิจ”) ทำงานในนามบริษัทที่ดำเนินการร่วมกันกับท้องถิ่นและโรงเรียน
โครงการนี้เริ่มทดลองในปี 2553 ณ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีที่เฮลซิงกิ และเป็นหลักสูตรที่เรียนรู้ในห้องเรียนผ่านครู และหลังจากนั้น ก็จะพานักเรียนไปเรียนรู้ในเมืองจำลองที่บริษัทสร้างขึ้นมา
ที่เมืองจำลอง เด็กๆ จะได้ทดลองประกอบอาชีพต่างๆ เพื่อเรียนรู้ชีวิตการทำงาน ระบบเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะทักษะผู้ประกอบการในฐานะพลเมืองฟินแลนด์ มีอาชีพให้เลือกกว่า 64 อาชีพ ตั้งแต่นายกเทศมนตรี ซีอีโอไปจนถึงเซลล์แมน ก่อนจะได้อาชีพ พวกเขาจะต้องถูกสัมภาษณ์เสียก่อน เด็กๆ จะทำงานได้เงินแล้วนำมาใช้บริโภคใช้สอย และจัดการเงินผ่านธนาคาร รวมไปถึงการจ่ายภาษี คล้ายกับชีวิตจริง หลังจากนั้นก็จะกลับมาที่ห้องเรียนเพื่อสะท้อนความเห็นจากกิจกรรมที่ผ่านมา
ในปี 2562 เด็กชั้นป.6 ของฟินแลนด์กว่า 80% ได้เข้าร่วมโครงการนี้ในพื้นที่เขตเทศบาลกว่า 200 แห่ง ร่วมกับเครือข่ายสนับสนุนกว่า 100 แห่ง หลักสูตรสร้างพลเมืองผู้ประกอบการ เป็นเจ้าของบริษัท ถือเป็นการเตรียมพร้อมพื้นฐานให้เด็กๆ ของพวกเขาพอจะนึกออกว่า พวกเขาควรจะเดินไปทางในหลักเรียนจบ และควรจะเลือกเรียนอะไรต่อ
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ภายใต้วิชาท้องถิ่นศึกษา ที่สอนให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฏลำปาง เน้นความเข้าใจท้องถิ่นในเชิงการเมืองของพื้นที่ ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ การถูกกำกับด้วยความรู้จากส่วนกลาง มีสิ่งที่ท้าทายยามโควิดว่า ควรจะมีงานอะไรที่น่าจะท้าทายความสามารถนักศึกษาได้มากกว่าการทำรายงานส่ง คิดไปต่างๆ นานาถึงการสร้างบอร์ดเกม เกมออนไลน์ สุดท้ายมาตกลงปลงใจกับบทบาทสมมติที่ผูกกับการเลือกตั้ง
ผมได้มอบหมายงานนักศึกษาที่ชื่อว่า “Vote For Me เลือกฉันเป็นนายกอบจ.” งานนี้พวกเขาจะสวมบทบาทสมมตินักการเมืองท้องถิ่นที่จะลงสมัครรับเลือกเป็นนายกอบจ. ในจังหวัดบ้านเกิดของตัวเอง ในตอนแรกคิดว่า จะทำในระดับนายกเทศมนตรีของเทศบาล หรืออบต. แต่เมื่อคิดดูแล้วเป็นพื้นที่ที่เล็กเกินไปที่สร้างโครงการอะไรที่น่าตื่นใจ หรือสร้างผลกระทบได้ในเวลาสั้น จึงเปลี่ยนมาเป็นพื้นที่ของอบจ.
โชคดีที่ที่ผมสอน มีนักศึกษามาจากหลายจังหวัดทั้งในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคอีสาน จึงทำให้พื้นที่กระจายไปตามบ้านเกิดของพวกเขาด้วย โจทย์เริ่มต้นจากการทำนโยบายหาเสียงแบบที่นักการเมืองเขาทำกัน ให้พวกเขาลองดูว่า ถ้าจะลงเลือกตั้งเขาจะมีนโยบายอะไรทำเพื่อพัฒนาบ้านเกิดของพวกเขาบ้าง
อย่างไรก็ตาม นอกจากนโยบายที่เขาจะต้องทำออกมาแล้ว สิ่งที่จะต้องรู้ก่อนวางแผนก็คือ จุดเด่นจุดด้อยของบ้านเมืองของเขาเอง วิชาภูมิศาสตร์ และประชากรที่เขาเคยลงเรียนมาแล้ว น่าจะพอช่วยในการวิเคราะห์นี้ได้บ้าง
นอกจากนั้น เพื่อเป็นกิมมิกเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้เปิดช่องให้พวกเขาเลือกผู้มีชื่อเสียงจากทั่วโลกเข้ามาเป็นทีมงานได้ ตั้งแต่ทีมบริหารไปจนถึงประธานสภาอบจ. เราจึงเห็นบางคนเลือกบารัก โอบามา, อีลอน มัสก์, ลี เซียนลุง, บอริส จอห์นสัน, แทมมี่ ดักเวิร์ธ, ฮิลลารี คลินตัน, ออง ซาน ซูจี, บัน คี มุน, เอมมา วัตสัน, จาซินดา อาร์เดิร์น, มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก, เกรต้า ธันเบิร์ก, อเล็กซานเดรีย โอกาซิโอ-กอร์เตซ ฯลฯ เข้ามา
ในระดับประเทศ บางคนก็เลือกทักษิณ ชินวัตร, ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร, สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์, สุทิน คลังแสง, ชลน่าน ศรีแก้ว, จิราพร สินธุไพร, ปวีณา หงสกุล, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, พรรณิการ์ วานิช, ปิยบุตร แสงกนกกุล, พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล, ศิริกัญญา ตันสกุล, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ, มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์, โฟกัส จีระกุล, ปนัดดา วงศ์ผู้ดี, อินทิรา เจริญปุระ, ลักขณา ปันวิชัย, นิธิ เอียวศรีวงศ์ ฯลฯ เชื่อหรือไม่ บางคนเลือกประยุทธ์ จันทร์โอชาเข้ามาเป็นทีมงาน ที่น่าสังเกตคือ ไม่ยักมีใครเลือกชัชชาติ สิทธิพันธุ์ นักการเมืองแห่งมีมในตำนาน
เช่นเดียวกับสังกัดหรือชื่อพรรค ที่ให้อิสระว่า ใครจะไปสังกัดพรรคไหนก็ได้ในปัจจุบัน หรือจะตั้งพรรคใหม่ขึ้นมาก็ได้ เราจึงได้เห็นว่า บางคนสังกัด “พรรคก้าวล่วง” อันเป็นชื่อที่ถูกใช้ล้อเลียนในการเมืองไทย บางคนใช้ชื่อที่เห็นแล้วนึกถึงพรรคบางพรรคเช่น พรรคสองแควก้าวไกล (พิษณุโลก), พรรคตากก้าวไกล, พรรคลำปางก้าวไกล, นครเวียงพิงค์ก้าวไกล, พรรคอนาคตท่าเหนือ (อุตรดิตถ์), พรรคพลังลำพูน, พรรคเพื่อน่าน, พรรคประชาเวียงพิงค์ (เชียงใหม่)
จำนวนมากคิดชื่อพรรคขึ้นมาเอง เช่น พรรคอภิวัฒน์ลำพูน, กลุ่มน้ำใจเวียงพิงค์ (เชียงใหม่), พรรคฮักไทเลย, พรรคจาวเหนือฅนเมืองหละปูน (ลำพูน), พรรคสี่แคว สามัคคี (นครสวรรค์), พรรคพลเมืองลำพูน, พรรครักษาถิ่นลำปาง, พรรคพลังรักษ์สวรรค์บนดอย (แม่ฮ่องสอน), รักนี้ที่พะเยา, พรรคประตูท่าแพเวียงเจียงใหม่, แม่ฮ่องสอนกลุ่มเพื่อประชาราษฎร์, ลำปางอุ่นใจ, พรรคพลเมืองเลย ฯลฯ
กลับมาที่การวิเคราะห์จังหวัดและนโยบาย ผมขอยกตัวอย่างไอเดียที่น่าสนใจ ดังนี้
เบอร์ 3 กรินทร์ แสนสามก๋อง แห่งพรรคประชาเวียงพิงค์ ชูนโยบายขนส่งสาธารณะในชื่อ “แพนด้าต๊ะต่อนยอน” เป็นรถโดยสารประจำทางวิ่งรอบเมืองตลอด 24 ชั่วโมงพร้อมสถานีโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวที่ผูกรถโดยสารกับการท่องเที่ยวเข้าไว้ด้วยกัน ในช่วงเทศกาล ระบบขนส่งจะให้บริการฟรี นอกจากนั้นยังเสนอระบบบอกพิกัดและตำแหน่งรถสาธารณะอื่นๆ เข้าเป็นระบบเดียวกัน
เบอร์ 6 เพชรรา ปันปวน แห่งพรรครักษาถิ่นลำปาง เสนอนโยบายสร้างลำปางเป็นเมืองอุตสาหกรรม E-SPORT ส่งเสริมการแข่งขัน และงานนิทรรศการแสดงสินค้า E-SPORT ปรับปรุงโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน กระตุ้นให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในจังหวัด ทั้งยังเพิ่มหลักสูตรการเรียนการสอนเฉพาะทางในระดับมหาวิทยาลัยประจำจังหวัด เป้าหมายคือ พัฒนาให้เมืองเป็นศูนย์กลางการแข่งขันด้านเกมในระดับสากลภายใน 3-5 ปี
จักริน ตองแหว เบอร์ 8 แห่งพรรคพลังชนคนเมืองแพร่ ที่ชูนโยบายสุราเสรี และชูให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ด้วยรสชาติที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกันไปในระดับพื้นที่ โดยมีกลไกคือ จัดตั้งสมาคมอุตสาหกรรมสุรากลั่น และองค์กรภาคีเครือข่ายความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างจังหวัดแพร่และต่างประเทศ รวมไปถึงศูนย์พัฒนาและรับรองมาตรฐาน ไม่เพียงเท่านั้นยังเสนอจัดกิจกรรม “Oktoberfest เมืองแป้ม่วนงัน” ให้เป็นเทศกาลประจำปี เพื่อเชื้อเชิญผู้นิยมแอลกอฮอล์จากทุกมุมโลกมาเข้าร่วม
กฤษณ์ดนัย ปันทะธง หมายเลข 103 แห่งพรรคพลเมืองลำพูน เสนอการจัดตั้งศูนย์เพื่อนพึ่งพาเกษตรชุมชนเพื่อสนับสนุนอุปกรณ์ทางการเกษตร เครื่องจักรกลทางการเกษตรชุมชนละ 1 แห่ง ให้เกษตรกรหยิบยืมไปใช้เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของเกษตรกร
เสียดายที่งานเหล่านี้เป็นการริเริ่ม และด้วยข้อจำกัดของสถานการณ์โควิด จึงมิได้เปิดโอกาสให้งานต่างๆ ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ โดยผู้สนใจหรือผู้เกี่ยวข้องโดยตรงมากนัก แต่พวกเขาก็ได้จัดทำผลงานเผยแพร่ไว้ในเพจ Facebook ที่ชื่อว่า Vote For Me 2021 :ท้องถิ่นศึกษา แล้ว ผู้ใดสนใจ ตามไปเยี่ยมชมผลงานของพวกเขากันได้
จะเป็นอย่างไร ถ้ามีการสร้างกิจกรรมที่สร้างโอกาสสวมบทบาทสมมติเป็นทีมทำงาน วิเคราะห์ ค้นคว้าและนำเสนออนาคตของเมืองของพวกเขาร่วมกันผ่านการจัดทำเวิร์กชอป ไม่ว่าจะเป็นระดับอบจ. เทศบาล หรือ อบต.
แค่นึกก็สนุกแล้ว
หมายเหตุ: ข้อมูลส่วนหนึ่งมาจากการแลกเปลี่ยนกับคุณกุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ
ภาพประกอบโดย Nuttal-Thanatpohn Dejkunchorn
Author
ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์
พลเมืองนอกกรุงเทพฯ ผู้สนใจและกระหายรู้ในประเด็นประวัติศาสตร์สังคม space เมือง และการกระจายอำนาจ
Follow