“เอ็นที” สนับสนุนระบบสื่อสารโทรคมนาคม เพิ่มศักยภาพโรงพยาบาล รองรับความต้องการประชาชนจองฉีดวัคซีนโควิด-19 นำร่อง รพ.ลำปาง รพ.ปิยะเวท ก่อนขยายพื้นที่อื่นทั่วประเทศ จันทร์ที่ 24 พฤษภาคม 2564 เวลา 19.01 น.
นายอภิชาติ สวรรค์คำธรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มผลิตภัณฑ์ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที เปิดเผยว่า เอ็นที ได้นำโครงข่ายระบบโทรคมนาคม ระบบ Cloud PBX, VDO Phone, Data Center, my และ SMS สนับสนุนภารกิจรัฐบาลในการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 แพร่ระบาดระลอกที่ 3 ในพื้นที่ต่างๆ โดยในพื้นที่ภาคเหนือ เอ็นที ได้สนับสนุนโรงพยาบาลลำปางด้วยระบบ Cloud PBX เพื่อเพิ่มศักยภาพคอลเซ็นเตอร์ในการรองรับประชาชนผู้สนใจลงทะเบียนรับวัคซีน โดย Cloud PBX หรือเทคโนโลยีระบบตู้สาขาโทรศัพท์ผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต ช่วยให้หน่วยงานสามารถใช้งานโทรศัพท์เสมือนมีตู้ PABX เป็นของตนเอง มีระบบเสียงตอบรับและหมายเลขภายใน ทำให้การติดต่อและประสานงานภายในองค์กร หรือการติดต่อประสานงานไปยังสาขาอื่นๆ สะดวก รวดเร็ว คล่องตัว และประหยัดค่าใช้จ่าย
การใช้ระบบ Cloud PBX เพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลลำปางในการรับแจ้งการลงทะเบียนจอง ฉีดวัคซีนผ่านคอลเซ็นเตอร์ได้มากกว่า 10 คู่สาย ส่งผลให้ประชากรในท้อง ที่ได้เข้าถึงระบบจองฉีดวัคซีน โควิด-19 ของโรงพยาบาลได้รวดเร็วและทั่วถึง โดยโปรแกรมของโรงพยาบาลจะบันทึกข้อมูลการจองเก็บเข้าฐานข้อมูลกลางที่ Cloud GDCC ของ เอ็นที และเชื่อมโยงกับบริการสื่อสารอื่นๆ ที่ เอ็นที ได้สนับสนุน ได้แก่ บริการระบบ SMS ส่งข้อความแจ้งกำหนดนัดฉีดวัคซีน บริการระบบ WiFi เคลื่อนที่ผ่านซิม my เพื่อโรงพยาบาลสามารถดำเนินการฉีดวัคซีนนอกสถานที่ และบันทึกข้อมูลการฉีดวัคซีนเข้าสู่ระบบหมอพร้อมได้ทันที
สำหรับพื้นที่ภาคกลาง เอ็นที ได้สนับสนุนระบบโทรศัพท์ ที่อำนวยความสะดวก เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคลากรทางการแพทย์กับผู้ป่วยโควิด-19 ได้แก่ ระบบโทรศัพท์ VDO Phone ใช้งานที่โรงพยาบาลสนามบุษราคัม (เมืองทองธานี) และระบบโทรศัพท์ Business Fixed line ที่โรงพยาบาลนครปฐม รวมถึงสนับสนุนโรงพยาบาลปิยะเวท ด้วยการเพิ่มความเร็วอินเทอร์เน็ตให้กับระบบเชื่อมโยงข้อมูลบน Server Cloud และ Data Center ของ NT รองรับการจัดเก็บข้อมูลบนเครือข่ายระบบ Cloud PBX ช่วยให้ระบบการจองฉีดวัคซีนของประชาชนมีเสถียรภาพ และสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ เอ็นที ยังเดินหน้าสนับสนุนหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่อื่นๆ ให้มีระบบการสื่อสารเพื่อรองรับข้อมูลประชาชนจำนวนมาก พร้อมเชื่อมโยงสู่ศูนย์กลางข้อมูลภาครัฐ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ โดยก่อนหน้านี้ได้สนับสนุน ซิม my ให้บริการอินเทอร์เน็ตไม่จำกัดและโทรฟรี 6 เดือน ให้กับบุคลากรทางการแพทย์โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ และโรงพยาบาลผู้สูงอายุบางขุนเทียน ตลอดจนสนับสนุนบริการอินเทอร์เน็ต 4G, WiFi, โทรศัพท์ IP Phone รวมถึงกล้องวงจรปิด (CCTV) สำหรับใช้งานในโรงพยาบาลสนาม รถพยาบาล และโรงแรม ที่เป็นสถานที่กักตัวทางเลือกในจังหวัดต่าง ๆ ด้วย.
คุณเห็นด้วยกับข่าวนี้หรือไม่
- เห็นด้วย
0%
- ไม่เห็นด้วย
0%