ควาญนำช้างน้อยแม่ตาย พร้อมช้างแม่รับ เดินทาง 8 ชั่วโมงออกจากป่าส่ง รพ.ช้างที่ลำปาง แสนสงสารลูกช้างไม่ยอมพรากจากศพแม่ ขณะที่ช้างแม่รับอ่อนเพลียจากอาการท้องเสียจากการกินสารเคมีแบบเดียวกับแม่ช้าง เตือนภัยมีการใช้เคมีในพื้นที่เกษตรจำนวนมากที่เป็นอันตรายต่อช้าง
กรณีนางแสงเดือน ชัยเลิศ ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ได้นำภาพแม่ช้างของชาวบ้านต้นงิ้ว ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่หายไปพร้อมลูกน้อย ก่อนไปพบแม่ช้างเสียชีวิตที่บริเวณสวนท้ายหมู่บ้าน ทีจือหล่อคี ต.แม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เขตติดต่อ อ.อมก๋อย โดยมีลูกน้อยเดินวนเวียนอยู่ไม่ยอมห่างจากซากศพของแม่ สันนิษฐานการตายน่ามาจากกินปุ๋ยและยาฆ่าแมลงที่ชาวสวนกองทิ้งไว้ตามพื้นที่สวนเกษตร เป็นเหตุการณ์การเศร้าสลดใจเกี่ยวกับช้างอีกครั้ง
ความคืบหน้า ทางมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปร่วมกับควาญช้างเจ้าของช้างที่เสียชีวิต โดยมีการนำช้างน้อยวัย 11 เดือนและแม่รับ หรือแม่เลี้ยงช้างที่มาด้วยกัน และมีอาการท้องเสียจากการกินปุ๋ยและยาฆ่าแมลงที่ใช้ในการเกษตร อุจจาระไหลตลอดเวลา เดินออกจากป่าท้ายหมู่บ้าน ทีจือหล่อคี ต.แม่หละ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก เพื่อกลับไปที่บ้านต้นงิ้ว ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ โดยต้องเดินเท้าไปเนื่องจากไม่มีเส้นทางรถยนต์ซึ่งกว่าจะนำลูกช้างออกจากซากแม่ช้างต้องใช้เวลานานมาก และเมื่อแยกออกมาได้ลูกช้างจะส่งเสียงร้องเรียกแม่ตลอดทางเป็นที่น่าเวทนา

จากนั้น ใช้เวลาเดินเท้าผ่านเส้นทางกลางป่านานร่วม 8 ชั่วโมง โดยมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ได้ส่งรถบรรทุกช้างไปรอรับที่ ต.แม่ตื่น อ.อมก๋อย เนื่องจากช้างทั้งสองเชือกมีอาการอ่อนล้ามากโดยโดยเฉพาะตัวแม่รับ ที่ดูแลช้างน้อยเริ่มมีอาการไม่ยอมกินอาหารและอุจจาระยังไหลออกมาตลอด ต้องรีบนำส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลช้าง จ.ลำปาง
นางแสงเดือน ชัยเลิศ ประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม เผยว่าขณะนี้ได้นำช้างทั้งสองเชือก นำเดินออกจากป่ามาร่วม 8 ชั่วโมง ส่งไปที่ โรงพยาบาลช้าง จ.ลำปางแล้ว ซึ่งสัตวแพทย์ ได้ช่วยเหลือ โดยเฉพาะช้างแม่รับ อาการยังค่อนข้างหนักคาดว่ากินสารพิษทั้งปุ๋ยและยาฆ่าแมลงเข้าไป

“ขณะนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง พื้นที่เลี้ยงช้างแทบจะไม่มีแล้ว และช้างใน อ.อมก๋อย ส่วนมากเป็นช้างที่เคยอยู่ในพื้นจัดแสดง เมื่อเกิดผลกระทบจากโควิด-19 จึงได้เดินทางกลับบ้าน ซึ่งในขณะนี้เฉพาะที่ อ.อมก๋อยมีช้างอยู่ 54 เชือก มีองค์กรจากต่างประเทศเข้าไปช่วยดูแลกันอยู่ แต่เป็นที่น่าเป็นห่วงสถานการณ์ช้างในหลายพื้นที่ เนื่องจากมีพื้นที่ทางการเกษตรปัจจุบันต้องใช้ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง และสารเคมีพวกนี้ก็ไหลลงสู่ลำธารน้ำ ช้างหรือสัตว์อื่นไปดื่มกินก็จะมีอาการทางร่างกายปรากฏให้เห็น เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมากในขณะนี้.