เผยแพร่:
ปรับปรุง:
ลำปาง – ทีมสัตวแพทย์หนุนแบนสารเคมีการเกษตรเต็มสูบ..หลังตรวจช้างอมก๋อยกินอาหารปนเปื้อนยาฆ่าหญ้า-สารเคมี เจอรอยไหม้เป็นแผลทั้งงวง-ปาก-ลิ้น ล่าสุดแม้รักษาแผลภายนอกหายแล้วยังต้องรอดูอาการอวัยวะภายใน
วันนี้ (7 มี.ค. 64) ผอ.สถาบันคชบาลแห่งชาติ (ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย) อ.ห้างแฉัตร จ.ลำปาง พร้อมด้วยทีมสัตวแพทย์ของโรงพยาบาล และ มช. รวมถึงสมาคมสมาพันธ์ช้างไทย ได้ร่วมกันแถลงข่าวความคืบหน้าอาการบาดเจ็บของช้างบ้านโม๊ะผ๊ะโด๊ะ ต.อมก่อย จ.เชียงใหม่ ที่กินสารฆ่าแมลงและถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลช้างศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ส่วนอีก 2 เชือกเป็นช้างป่าซึ่งอาการบาดเจ็บไม่มากนักได้มีการผลักดันให้อยู่ในพื้นที่
ทีมสัตวแพทย์ได้แถลงการดำเนินการหลังได้รับแจ้ง และการเดินทางไปยังพื้นที่จนถึงการควบคุมดูแลช้างออกจากพื้นที่เกิดเหตุมาถึงโรงพยาบาลที่ค่อนข้างลำบาก แต่ก็ด้วยความร่วมมือของหลายส่วนที่เข้าไปช่วยเหลือ ทำให้การเคลื่อนย้ายช้างออกจากพื้นที่ที่เกิดเหตุมาโรงพยาบาลเป็นไปด้วยความรวดเร็ว เรียบร้อย และเมื่อมาถึงโรงพยาบาลทีมสัตว์แพทย์ซึ่งได้มีการเตรียมทีมงานไว้พร้อมแล้วก็สามารถทำการรักษาช้างได้ทันที
นายสัตวแพทย์ ดร.ทวีโภค อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติ เปิดเผยว่า ขณะนี้ช้างทั้ง 5 เชือกมีอาการดีขึ้น ตอบสนองยาที่ให้การรักษาดี บางเชือกสามารถส่งกลับบ้านได้แล้ว แต่ต้องการให้รักษาตัวที่โรงพยาบาลก่อนประมาณ 2 สัปดาห์ เพราะเมื่อแผลภายนอกบริเวณในปาก งวง หายแล้วต้องมีการตรวจดูภายใน เพราะไม่แน่ใจว่าช้างเชือกไหนกลืนสารพิษเข้าไปบ้าง แต่ที่น่าดีใจคือทุกเชือกอาการดีขึ้นทั้งหมด
“เดิมลูกช้างพลายวิลลี่ เพศผู้ อายุ 1 ปี มีแผลในปาก โดยเฉพาะที่ลิ้น เพดานและรอบปากบ้าง แต่ขณะนี้ก็สามารถกลืนผลไม้ได้ อาการดีขึ้น เช่นเดียวกับแม่ คือ พังคำมูล เพศเมีย อายุ 10 ปี อาการก็ดีขึ้นเช่นกัน”
ส่วนขั้นตอนการรักษาได้ให้ยา 4 แนวทาง คือ การให้ยาทางเส้นเลือด การให้สารน้ำเพื่อปรับกรด-เบส ในร่างกาย การให้ยากดภูมิ และการให้ยาลดอนุมูลอิสระ เพราะสารตัวนี้ไปทำปฏิกิริยาออกซิเจนแล้วไปทำลายอวัยวะภายใน
รองศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์ ดร.ฉัตรโชติ ทิตาราม หัวหน้าศูนย์วิจัยช้างและสัตว์ป่า คณะสัตวแพทย์ศาสตร์ มช.กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เคยมีช้างที่โดนสารพิษ 25 เชือก แต่หลังจากสถานการณ์โควิดช้างต้องกลับบ้าน ภายใน 2 ปีมานี้มีช้างประสบเหตุถึง 10 เชือก ทั้งหมดเกิดจากสารพิษโดยเฉพาะสารฆ่าหญ้า สารเคมีทางการเกษตร
ดังนั้น ทีมสัตวแพทย์ขอสนับสนุนบอยคอตการใช้สารเคมีที่นำมาใช้ในการเกษตร เพราะที่ผ่านมาก็จะเห็นว่าเป็นอันตรายทั้งคน พืช และสัตว์ และขณะนี้สัตว์ใหญ่อย่างช้างก็ได้รับอันตรายด้วย จึงต้องขอให้ดูแลเรื่องนี้ให้มากขึ้น เพราะแม้มีการแบนสารพิษเหล่าไปตั้งแต่มิถุนายนปีที่แล้วก็ยังคงมีการนำสารเหล่ามาใช้ หมายความว่ายังมีร้านค้าแอบขาย หรือเกษตรกรมีหลงเหลือเก็บไว้ใช้งานอยู่ หรือไม่ก็ปล่อยทิ้งไว้ไม่มีการจัดการที่ดี ปล่อยทิ้งขวางจนสัตว์ที่ไม่รู้ไปพบเห็นก็อาจกินและได้รับอันตราย และควาญช้างอย่าปล่อยให้ช้างกินอยู่ตามธรรมชาติแบบปล่อยทิ้ง ต้องหมั่นเข้าไปดูช้างอย่างสม่ำเสมอ
ด้านนายธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคเหนือมีการนำช้างมาใช้ในสถานประกอบการนำเที่ยวจำนวนมาก แต่หลังจากสถานการณ์โควิดต้องนำช้างกลับบ้าน ถึง 400-500 เชือก กระจายอยู่ทั้งที่แม่แจ่ม ขุนยวม และจังหวัดตาก รวมถึงรอยต่อเชียงใหม่กับตาก คือ พื้นที่บ้านแม่ตื่น ที่เกิดปัญหาขณะนี้จะมีช้างอยู่ประมาณ 30 เชือก โดนสารพิษ 7 เชือก เป็นช้างบ้าน 5 เชือก ช้างป่า 2 ตัว ซึ่งการนำช้างตกงานกลับบ้านก็มีปัญหาสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่คุ้นชิน บางเชือกเกิดในปาง ไม่เคยสัมผัสป่า และแม้แต่ควาญเองที่เคยเห็นสภาพป่าเดิมกับปัจจุบันก็ไม่เหมือนกัน เพราะป่าปัจจุบันอยู่ในสภาพกึ่งการเกษตรกึ่งป่า การดูแลช้างที่ตกงานกลับบ้านก็ต้องแตกต่างจากเดิมด้วย