เกิดเหตุการณ์กฐินอลเวง ที่จังหวัดลำปาง เมื่อเจ้าอาวาสวัดศรีรองเมือง ออกมาร้องสื่อว่านายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จัดกฐินสามัคคี เพียงข้ามวัน กลับมาหอบเงินไปทั้งหมด กว่า 3 แสนบาท ทั้งที่จริงๆแล้ว ต้องนำเงินเข้าวัดเพื่อซ่อมแซมบูรณะวัด
พระอธิการชลฌาทิศ ชิตจิตโต เจ้าอาวาสวัดศรีรองเมือง เผยว่า ที่ออกมาร้องเรียนภายหลังจากที่มีการจัดกฐินสามัคคี เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2564 ได้ปัจจัยจำนวน 321,324.50 บาท จนกระทั่ง วันที่ 20 พ.ย. 2564 ทางประธานในการจัดงานคือ นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จังหวัดลำปาง พร้อมคณะกรรมการ ได้มาเอาเงินจำนวนดังกล่าว ไปเข้าในบัญชีของสมาคมแทน
โดย อ้างว่า หักค่าใช้จ่ายจัดงาน 1 แสนกว่าบาท และ หากจะใช้จ่ายซ่อมแซมวัด ทางสมาคมฯจะเป็นผู้เบิกจ่ายดำเนินการเอง ซึ่งมองว่าการกระทำดังกล่าวไม่ถูกต้อง
เจ้าภาพกฐินคืนวัดแล้ว 2 แสนบาท แจงยิบ ไม่เคยกั๊กเงินทำบุญ
แฉคลิปกฐินไม่ถึงล้านเจ้าอาวาสไม่รับ โดนตั้งกรรมการสอบ
ล่าสุด ที่วัดมีการพูดคุยเรื่องนี้อีกครั้ง โดยมี ไวยาวัจกร ทนายความของวัด สำนักพุทธศาสนาลำปาง และ นายจำนง หงส์แก้ว อุปนายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวภาคเหนือ จังหวัดลำปาง (ใส่เสื้อเชิร์ตแขนยาวสีน้ำเงิน)
นายจำนง ระบุว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการเข้าใจที่คาดเคลื่อน ซึ่งค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจัดงาน ทั้งค่ารถม้า ค่าพิธีกร ค่าอาหารขันโตก รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ สมาคมฯ สรุปยอดค่าใช้จ่าย ทั้งหมด 80,638 บาท ส่วนที่เหลือหลังจากนี้ จะโอนเงินเข้าบัญชีของวัด คาดว่าในวันพรุ่งนี้ (23 พ.ย.) จะทำการให้แล้วเสร็จซึ่งทั้งคู่ก็มีการทำความเข้าใจกันอีกครั้ง
ภายหลังการพูดคุยแล้วเจ้าอาวาสวัดศรีรองเมือง ยืนยันว่า ในการจัดงานกฐินสามัคคี ในครั้งนี้ ตามใบฎีกาที่พิมพ์ใส่ในซองกฐิน มีข้อความหรือวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เพื่อนำปัจจัยรายได้มาบูรณะซ่อมแซมวัดศรีรองเมืองและเมื่องานเสร็จแล้ว ยอดเงินหลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้วก็ต้องนำเข้าบัญชีของวัดเท่านั้น จะนำไปเข้าบัญชีของคนใดคนหนึ่งไม่ได้
นาย สมบัติ พิมพ์สอน ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม บอกว่า กรณีที่สมาคมนำเงินปัจจัยกฐินเข้าบัญชีสมาคมฯ เบื้องต้นทางวัดต้องทำความเข้าใจกับทางสมาคมว่าเมื่อมีการถวายปัจจัยและเครื่องไทยธรรมแล้ว จะต้องให้ของเหล่านั้นกับทางวัดทั้งหมด แต่หากพูดคุยไม่สำเร็จเจ้าอาวาสมีสิทธิ์ที่จะดำเนินคดีตามกฎหมาย ตาม พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ซึ่งลักษณะนี้ถือเป็นคดีอาญาฐานยักยอกทรัพย์
ผู้อำนวยการสำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม บอกอีกว่าตามปกติแล้วเงินปัจจัยจะต้องโอนเข้าบัญชีวัดที่มีเจ้าอาวาส ไวยาวัจกร และบุคคลที่เจ้าอาวาสมอบหมาย อย่างน้อย 3คนอยู่ในบัญชี และเมื่อต้องการเบิกจ่ายจะต้องลงนามรับรู้อย่างน้อย 2 คน เพื่อไม่ให้มีการใช้เงินผิดประเภทไม่ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการถวาย
อัปเดตข่าวล่าสุดก่อนใคร Add friend ได้ที่ @PPTVOnline