เผยแพร่: ปรับปรุง: โดย: ผู้จัดการออนไลน์
กรมควบคุมโรค รายงานการเฝ้าระวังสถานการณ์โรคไข้หูดับ ตั้งแต่ 1 ม.ค.-24 มิ.ย.64 มีรายงานผู้ป่วย 266 ราย เสียชีวิต 12 ราย กลุ่มอายุที่พบผู้ป่วยสูงสุด คือ กลุ่มผู้สูงอายุและวัยทำงาน ได้แก่ อายุมากกว่า 65 ปี รองลงมาคือ อายุ 55-64 ปี และอายุ 45-54 ปี จังหวัดที่พบผู้ป่วยมากที่สุดคือ จ.ลำปาง พะเยา อุตรดิตถ์ นครราชสีมา และสุโขทัย ตามลำดับ โดยคาดว่าในช่วงนี้มีโอกาสจะพบผู้ป่วยโรคไข้หูดับเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจัยแวดล้อมและวัฒนธรรมการรับประทานอาหาร จึงขอเตือนให้ประชาชนระมัดระวังการป่วยโรคไข้หูดับ โดยเฉพาะในภาคเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งผู้ที่มีโอกาสติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ที่สัมผัสกับหมูที่ติดโรค เช่น ผู้เลี้ยงสัตว์ คนทำงานโรงฆ่าสัตว์ ผู้จำหน่ายเนื้อสัตว์ คนชำแหละเนื้อหมู และผู้ที่รับประทานเนื้อหมูดิบ เป็นต้น
นอกจากนี้ กลุ่มเสี่ยงที่ได้รับเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง โรคเบาหวาน ไต มะเร็ง หัวใจ เป็นต้น โรคไข้หูดับ ติดต่อผ่านทางบาดแผล รอยถลอก และเยื่อบุตา จากการรับประทานเนื้อหมูดิบ ปรุงไม่สุกหรือเลือดหมูดิบ โดยเริ่มมีอาการหลังได้รับเชื้อไม่กี่ชั่วโมงถึง 5 วัน จะมีไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง เวียนศีรษะจนทรงตัวไม่ได้ อาเจียน ถ่ายเหลว คอแข็ง ส่วนใหญ่สูญเสียการได้ยิน ถึงขั้นหูหนวกถาวร ข้ออักเสบ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนังติดเชื้อรุนแรง ถึงติดเชื้อในกระแสเลือดจนเสียชีวิตได้