ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ลงพื้นที่กับทีมผู้บริหารหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ร่วมติดตามสถานการณ์ปริมาณน้ำกักเก็บ ของสองเขื่อนใหญ่ในเขตจังหวัด พบปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นหลังมีฝนตกเหนือเขื่อน ยืนยันภาพรวมลำปางปีนี้น้ำมีพอใช้ แต่ยังห่วงพื้นที่เสี่ยงย้ำหน่วยงานแต่ละภาคส่วนเร่งวางมาตรการช่วยเหลือตั้งแต่เนิ่นๆ
นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย นายชาญ จูดคง นายอำเภอแจ้ห่ม และหัวหน้าหน่วยงานส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของอำเภอแจ้ห่ม และหน่วยงานในสังกัดกรมชลประทาน ร่วมลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำภาพรวม ในสองเขื่อนใหญ่ของจังหวัดลำปาง กิ่วลม กิ่วคอหมา หลังพบพื้นที่ได้รับอิทธิพลจากร่องมรสุมมีฝนตกบริเวณด้านบนเหนือเขื่อน ซึ่งได้ส่งผลดีต่อปริมาณน้ำกักเก็บที่จะต้องนำมาบริหารจัดการ ใช้ภายในเขตพื้นที่จังหวัดให้เพียงพอตลอดช่วงหน้าแล้ง ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ ใช้ในการเกษตร และในภาคอุตสาหกรรม โดยจากการลงพื้นที่ติดตาม ทางเจ้าหน้าที่หน่วยงานโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา ได้รายงานถึงสถานการณ์น้ำภาพรวมของสองเขื่อนใหญ่ ที่พบว่าปัจจุบันมีปริมาณน้ำกักเก็บเพิ่มมากขึ้น เฉลี่ยอยู่ที่ระดับร้อยละ 72 ของความจุอ่างทั้งหมดรวมกัน ซึ่งเขื่อนกิ่วคอหมา มีปริมาณน้ำกักเก็บประมาณ 113 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนกิ่วลม มีปริมาณน้ำกักเก็บประมาณ 82 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งถือได้ว่าอยู่ในระดับเกณฑ์พอใช้ ต่ำกว่าเกณฑ์ปกติเพียงเล็กน้อย
โดยจากข้อมูลรายงานภาพรวม นายสิธิชัย จินดาหลวง ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำกักเก็บที่มีอยู่ในตอนนี้ นับได้ว่าเป็นข่าวดีของชาวลำปาง เพราะน้ำที่กักเก็บได้มีปริมาณมากกว่าหลายๆ ปีที่ผ่านมา ซึ่งหลายปีก่อนหน้านี้พื้นที่จังหวัดลำปางก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง ทำให้ตลอดห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา หลายๆ พื้นที่ในจังหวัดลำปางต้องประสบกับปัญหาภัยแล้ง ประชาชนขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ พืชผลทางการเกษตรไม่สามารถเพาะปลูกได้
ส่วนในปีนี้พื้นที่จังหวัดลำปางมีปริมาณน้ำกักเก็บค่อนข้างมาก โดยในอ่างกักเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก และในพื้นที่เพาะปลูกเขตชลประทาน พบว่ามีปริมาณน้ำรวมทั้งหมดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 73 ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้กล่าวมั่นใจว่าปีนี้ประชาชนชาวจังหวัดลำปาง ในเขตพื้นที่ชลประทานจะไม่ประสบปัญหากับวิกฤตภัยแล้งอย่างแน่นอน โดยการบริหารจัดการน้ำจะนำมาตรการปฏิบัติของปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นมาตรการที่ใช้ในห้วงวิกฤตที่สุดมาบริหารจัดการ เพื่อจะให้น้ำที่มีอยู่นำไปใช้ประโยชน์ ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค ทำการเพาะปลูก และใช้ในกิจการอุตสาหกรรม ได้อย่างคุ้มค่าเพียงพอทั่วถึง ทั้งในเขตพื้นที่จังหวัดลำปางรวมถึงจังหวัดใกล้เคียงด้วย
อย่างไรก็ตามในส่วนของพื้นที่นอกเขตชลประทาน ที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่แล้งซ้ำซาก ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้กล่าวถึงการเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในปีนี้ว่า จะต้องเร่งดำเนินการก่อนเสียแต่เนิ่นๆ โดยหลังจากนี้จะได้มีการแจ้งหน่วยงานท้องที่ในทุกอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน เร่งทำการสำรวจพื้นที่แล้งซ้ำซาก แบ่งระดับความเสี่ยง เสี่ยงมาก เสี่ยงปานกลาง และเสี่ยงน้อย เพื่อจะได้เป็นข้อมูลนำมาใช้ในการวางแผนบริหารจัดการน้ำร่วมกัน โดยจะยังคงเน้นย้ำจุดสำคัญในเรื่องการสำรองเก็บน้ำไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน ซึ่งจะต้องมีเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคเป็นอันดับแรก ประชาชนต้องไม่ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ รวมถึงพืชไม้ผลของเกษตรกรต้องไม่ยืนต้นตายจากการขาดแคลนน้ำ